วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จิตสงบเย็น ไม่เป็นทุกข์

จิตสงบเย็น ไม่เป็นทุกข์

ถ้าท่านไม่มองหาความสงบ...
ไม่ทำจิตให้ปล่อยวาง...
แต่หันไปอยากได้อยากดีกับสิ่งภายนอก...

เห็นสิ่งนั้นก็อยากได้อย่างนั้น...
เห็นสิ่งโน้นก็อยากได้สิ่งโน้น...
จิตของท่านก็จะสับสนวุ่นวาย และเป็นทุกข์...


แต่ถ้าท่านมองเห็นความสงบของ'จิต'....
และควบคุมจิตไม่ให้เกิดความอยาก...
ความทะเยอทะยานที่ไม่รู้จักพอ...ขึ้นมาแล้ว

จิตของท่านก็จะสงบเย็นอยู่ตลอดเวลา...
ไม่ว่าท่านจะยืน-เดิน-นั่ง หรือนอนที่ใดก็ตาม...
ไม่ว่าท่านจะเป็นคนร่ำรวยหรือยากจน..

สักเพียงใดก็ตาม....
ท่านก็จักไม่เป็นทุกข์...

คติธรรม

คติธรรม คำสอน
พระอาจารย์ชา สุภัทโท
โยม ไม้อันที่อาตมาถืออยู่นี่นะ มันสั้นหรือว่ามันยาว?
โยม ไม้อันนี้ธรรมชาติแท้ ๆ ของมันมีแค่นี้ เท่านี้ มันไม่สั้น และก็ไม่ยาว
โยม ความต้องการที่จะให้ไม้นี้มันสั้นเข้า หรือยาวออก นั่นแหละ ทุกข์
ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเรายอมตามธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ ยอมที่ไหน ทุกข์ก็ไม่เกิดที่นั่น สมมุติว่าวันนี้ โยมหาเงินได้ ๑๐๐ บาท ธรรมชาติของมันแค่ ๑๐๐ บาท จะอยากให้ได้มากกว่านั้นก็ไม่ได้ จะอยากให้ได้น้อยกว่านั้นก็ไม่ได้ หาได้ ๕๐ บาท ธรรมชาติของเขาก็แค่นั้น หาไม่ได้เลย ธรรมชาติของมันก็เท่ากับหาไม่ได้เลย ยอมตามธรรมชาติที่มันเป็นทุกอย่าง ทุกแห่ง ทุกข์ก็ไม่เกิด ธรรมะอย่างนี้ปฏิบัติที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ ใคร ๆ ก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติเมื่อไหร่ ที่ไหน ทุกข์ก็ไม่เกิดเมื่อนั้น ที่นั่น
โยม อีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่าถ้าเราจะปลูกต้นไม้ อันดับแรก เราต้องเตรียมดินให้ดี ขุดหลุมกว้างเมตร ลึกเมตร คลุกดินด้วยปุ๋ยคอกดย่างดี แล้วจึงปลูกต้นไม้ลงไป เมื่อปลูกแล้ว เราต้องคอยดูแล โดยหมั่นรดน้ำ พรวนดิน ดายหญ้า และล้อมรั้วกันอันตรายให้ หน้าที่ของเรามีเพียงแค่นี้ ทำให้ครบ ทำให้ดีที่สุด ส่วนผลที่ต้นไม้จะให้นั้น บางชนิด ๑ ปีให้ผล บางชนิด ๓ ปี ๕ ปี ๑๐ ปี นั่นเป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของต้นไม้เขาเอง
โยม อย่าลืมนะ หน้าที่ของเรานั้น ทำเหตุให้ดีที่สุดเท่านั้น ส่วนผลที่จะได้รับเป็นเรื่องของเขา ถ้าเราดำเนินชีวิต โดยมีการปล่อยวางเช่นนี้แล้ว ทุกข์ก็ไม่รุมล้อมเรา ธรรมะอย่างนี้ใคร ๆ ก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติที่ไหนก็ได้ ปฏิบัติเมื่อไรก็ได้

พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร
เราได้เกิดมาแล้ว
ความแก่ไล่ติดตามเราตลอดเวลา
ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็มาถึงทุกขณะ ทุกเวลา
ชีวิตนี้เป็นของน้อยนิดเดียว
ให้เร่งกันรีบเร่ง
อย่าไปมัวเพลิดเพลินที่อื่น
เมื่อความตายมารณภัยมาถึง
จิตใจของเราละกิเลสหมดไปหรือยัง

พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ)
พระองค์ทรงสอนอะไร สอนธรรมดา ๆ เรานี่เอง ที่เคยพบ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี่เอง สอนอย่างนี้ ความเกิดจะต้องพิจารณาอย่างไร ความแก่จะต้องพิจารณาอย่างไร พยาธิ มรณะจะต้องพิจารณาอย่างไร พิจารณาอย่างนี้ ความคิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันเป็นทุกข์ ทุกข์อะไร สภาวะทุกข์ สภาวะทุกข์เขามีอย่างนี้ กี่ร้อยหมื่นปีมาแล้ว แม้ตถาคตก็ได้พบอย่างนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ตถาคตก็มาสอนพวกท่านบ้าง พึงจะทำได้บ้าง คือความคิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี่เป็นตัวทุกข์ จะทำอย่างไรกับตัวทุกข์ แก้ แก้ แก้ด้วยวิธีอะไร แก้ด้วยวิธีไหน แก้ไม่ได้เพราะมันเป็นตัวอสวานตธรรม เมื่อแก้ไม่ได้อย่างนั้นก็ทำแต่ความรู้ไว้ว่า ที่มันทุกข์เราอย่าไปทุกข์ตามมันก็แล้วกัน เพราะทุกข์มันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเพิ่มเติมอะไรกับมันอีกหรอก ไม่ต้องไปเพิ่มเติมความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความบริบูรณ์อยู่แล้ว เป็นแต่ทำความเข้าใจว่า ที่มันเกิด เกิดเป็นอย่างไร มันก็แก่ แก่เป็นอย่างไร มันก็เจ็บ เจ็บแล้วเป็นอย่างไร มันก็ตาย มันเป็นอย่างนั้นแล้ว เราจะทำอย่างไร จึงจะให้พ้นจาก ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ต้องหัดทำให้เห็นสภาวะของเขาจริง ๆ ใครจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ความเกิดของเขาก็มี ความแก่เขาก็มี ความเจ็บ ความตายของเขาก็มี เพียงแต่ทำความรู้ไว้และให้ทุกข์นั้น ๆ ให้ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันผ่านไปก็แล้วกัน ลงท้ายที่สุด เราก็อย่าไปยึดถือมันไว้ อะไรเป็นเครื่องให้เราไปยึดถือเอาไว้ เขาเรียกว่าอะไร เขาเรียกว่า กิเลส กิเลสน่ะมันอะไร อวิชชา ตัณหา อุปาทาน พูดเป็นภาษาไทยง่าย ๆ โง่ อยาก ยึด อยู่ที่โง่ แล้วก็อยาก แล้วก็ยึด อวิชชา ตัณหา อุปาทาน พวกนี้มาทำจิตให้ติดอยู่ในทุกข์ ฉันเจ็บ ฉันไข้ ฉันไม่สบาย ฉันจะตาย แต่พระอริยเจ้าท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น ท่านไม่เจ็บ เกิดท่านก็ไม่ได้เชิญมาเกิด แก่ก็ไม่ได้เชิญมา เจ็บก็ไม่ใช่ ไม่ได้เชิญมา มรณะก็ไม่ได้เชิญ แกมาของแกเอง และแกก็เกิดแก่เจ็บตายของแกเอง ไม่คำนึงถึงในเรื่องสภาวะนั้น ๆ เป็นไปตามหน้าที่ของมัน เมื่อเป็นไปตามหน้าที่ของมัน เราเรียกว่าอะไรถอนอุปาทานการเข้าไปยึดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นของอาศัยกันอยู่ชั่วคราวหนึ่งเท่านั้น เมื่อสิ้นบุญสิ้นกุศล มันก็เป็นไปตามยถากรรมของเขานั่นเอง เมื่อเรามารู้เท่าทันเช่นนี้ ความโง่ มันก็เปลี่ยนเป็นคนฉลาดขึ้น ความอยากก็เป็นเป็นคนไม่อยากขึ้น ความยึดถือ มันก็เปลี่ยนเป็นคนไม่ยึดถือขึ้น จิตใจมันก็ปราศจากความโง่ ความอยาก ความยึดถือ โลภน้อยลง โกรธน้อยลง หลงน้อยลง น้อยลงเป็นลำดับ ๆ ด้วยการปฏิบัติในสมาธิบ้าง ในปัญญาบ้าง เมื่อเรามีศีล เรามีสมาธิ เรามีปัญญา ความหลุดพ้นมันก็มี เรียกว่า วิมุตติ

พระราชวุฒาจารย์ ( ดูลย์ อตุโล )
·         คิดเท่าไรก็ไม่รู้  หยุดคิดจึงจะรู้  แต่ก็อาศัยความคิดนั่นแหละจึงจะรู้  และเกิดปัญญา
·         ผู้รู้ไม่คิด  ผู้คิดไม่รู้  ถ้ารู้แล้วก็ไม่ต้องคิด  คนที่ยังมีความคิดคือคนไม่รู้
·         ผู้ที่รู้จริงไม่พูดมาก  ผู้ที่พูดมากคือคนไม่รู้จริง  พูดมากเสียมาก  พูดน้อยเสียน้อย
·         ธรรมะทั้งหมดก็คือทำให้จิตหยุดคิดเท่านั้นเอง  ทำให้จิตหยุดคิดให้ได้  สิ่งอื่น ๆ ก็หยุดหมด
·         เมื่อหยุดคิดจิตก็สงบ  ในเมื่อจิตสงบมันก็หยุดคิดเอง  "นั่นแหละ คือ ธรรมที่แท้จริง"

พระอาจารย์ลี ธัมมธโร 
·         เรื่องทั้งปวงสำคัญที่ใจ ดีก็ที่ใจ จะสำเร็จได้ก็ที่ใจ คนเราถ้าใจผ่องใสแล้ว จะพูดจะทำอะไรก็ดีทั้งนั้น
·         สิ่งใดที่ยังไม่ได้มาย่อมเป็นทุกข์ และได้มาแล้วก็ยังเป็นทุกข์อีก
·         มรรคสัจซึ่งเป็นของจริงนั้น ย่อมมีอยู่ธรรมดา ศีลก็มีจริง สมาธิก็มีจริง ปัญญาก็มีจริง วิมุตติก็มีจริง แต่คนเรา ไม่จริง จึงไม่เห็นของจริง บำเพ็ญศีลก็ไม่จริง สมาธิก็ไม่จริง ปัญญาก็ไม่จริง เมื่อเราทำไม่จริง ก็ไม่ได้ของจริง จะได้ของปลอมกันเท่านั้น เมื่อใช้ของเทียมของปลอม ย่อมได้รับโทษ
·         คนนุ่งผ้าขาดดีกว่าคนเปลือยกาย คนศีลขาดดีกว่าคนไม่มีศีล
·         ดูใจคน ดีกว่า ดูหน้าคน
·         คนมักง่ายจะได้ยาก คนมักลำบากจะได้ดี
·         ของดีก็ย่อมต่อคนดี ของชั่วก็ย่อมต่อคนชั่ว

พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
อันสตินี้ สัมปชัญญะนี้ ก็สมมุติเป็นโชเฟ่อร์ผู้กำพวงมาลัย ได้แก่เป็นผู้มีสติคอยระมัดระวังกาย วาจา จิต อยู่เสมอ ๆ คอยระวังเรื่องต่าง ๆ ที่มันจะกระทบกระทั่งที่จะให้เกิดความเสียหาย ดีใจ ความโกรธ ความเกลียดต่าง ๆ  ระมัดระวังไปเรื่อย ๆ แต่ก็มิได้หมายความว่าเราต้องเที่ยวประกาศ ห้ามมิให้ใครมาติมาชมเราอย่างนั้นอย่างนี้นะ ไม่ได้หมายความอย่างนั้น ที่ว่าระวังในที่นี้หมายความว่า เมื่อมีเรื่องเช่นนั้นมากระทบกระทั่งเข้ามา เราจะรู้ทัน ทันที เราจะห้ามจิตไม่ให้หวั่นไหวไปตามนั้น ๆ เราระวังอย่างนี้ต่างหาก เราจะระวังไม่ให้คนนินทาวาร้าย หรือพูดจาเสียดแทงต่าง ๆ นานา ห้ามไม่ได้เลย เพราะว่านั่นเป็นเรื่องของเขา เขามีสิทธิ์ที่จะพูด แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะรู้เท่าทันเช่นเดียวกัน มันก็ต้องเข้าใจอย่างนี้ ที่จะทำให้จิตใจของเราไม่ฉุนเฉียวง่าย ที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่อย่างอื่น คือมันขาดสติ คือ สติสัมปชัญญะควบคุมจิตไม่ได้ เรียกว่าสติมันห่าง  สติการควบคุมจิตมันห่างไป  มันไม่ถี่ ดังนั้นเราจะต้องกระชับสติสัมปชัญญะให้มันถี่เข้า

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร
โอกาสเวลาที่เราได้มาวัดมาวามาปฏิบัติจิตใจ จึงควรตั้งหน้าชำระสะสางจิตใจของตัวที่ชั่วที่ผิดให้ตกออกไป หลุดออกไป ให้จิตรู้เห็นเด่นชัดในอรรถในธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน เมื่อจิตเห็นตามเป็นจริงแล้ว โลกอันนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะมาวุ่นวายในจิตในใจของเรา ความจริงจิตของเราเท่านั้นที่จะไปเกาะเกี่ยวยึดเหนี่ยวสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเราของเรา เมื่อได้มาก็ยึดถือเป็นทุกข์เพราะการรักษา เสียหายไปก็เสียใจเศร้าโศก มันเป็นอย่างนั้น เรื่องของจิต แต่ความจริงสิ่งเหล่านั้น เขาไม่ได้รับรองว่า เราเป็นเจ้าของของเขา ใครเอาไปก็เป็นหน้าที่ของคนเอาไปเท่านั้น เขาไม่ได้ถือว่า เขาเป็นของคนคนนั้น เป็นของของคนนี้ เขาไม่ได้มีความหมายอะไร แต่ใจมันไปยึดไปถือ ไปเกาะเกี่ยว มันก็เลยยุ่ง เลยลำบาก

พระอาจารย์จำเนียร ลีลเสฏโฐ
การไม่รัก ไม่เกลียด ไม่โกรธนั้น เป็นทางไปของพระอริยเจ้า
เราห้ามรักว่า อย่าเกิดนั้นไม่ได้ เมื่อเขาเกิดมาแล้ว เราดูรักนั้นให้พินาศไปตามปัจจัยของญาณ
เราห้ามอย่าให้ทุกข์นั้นไม่ได้ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้ว จงพิจารณาให้เห็นกันไปเป็นธรรมดาของมัน
เราห้ามไม่ให้โกรธ เกลียด แค้นนั้น ห้ามเขาไม่ได้ เมื่อเขาโกรธ เกลียด รัก แค้นขึ้นแล้ว จงดูสิ่งเหล่านั้นดับไปเป็นธรรมดา
ท้ายที่สุด จิตของผู้ปฏิบัติจะเหนือกว่ากระแสโลกได้

พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม
มรณานุสติ
ให้พิจารณาความตาย
นั่งก็ตาย
นอนก็ตาย
ยืนก็ตาย
เดินก็ตาย

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วิธีการบูชาพระพิฆเนศ






วิธีการบูชาพระพิฆเนศอย่างถูกต้อง

 การบูชาพระพิฆเนศ หากไม่สะดวกที่จะจัดเตรียมอย่างยิ่งใหญ่ ก็สามารถเตรียมแต่พอประมาณ เพื่อการสวดบูชาได้ทุกๆวัน ซึ่งหลักๆ แล้วมีสิ่งที่ต้องเตรียม เพื่อการบูชาพระพิฆเนศ ดังต่อไปนี้
อุปกรณ์
1. รูปภาพ หรือ เทวรูปพระพิฆเนศ ที่เราบูชาอยู่
2. ธูป หรือ กำยาน (อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง)ถ้าใช้กำยานแท่ง ให้ใช้ 1 อัน ใช้ได้ทุกกลิ่น
ถ้าใช้กำยานผง ให้ตักใส่โถตามความเหมาะสม
ถ้าใช้ธูป จะใช้กี่ดอกก็ได้...ขอย้ำว่ากี่ดอกก็ได้นะครับ
เพราะที่อินเดียจริงๆ แล้วไม่มีการกำหนดจำนวนธูปมาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากเหตุผลที่จุดธูปก็คือ ต้องการถวายกลิ่นหอมแก่เทพ และ ให้ควันธูปเป็นสื่อนำคำอธิษฐานเราไปสู่เทพ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากประหยัดก็ใช้ 1 ดอกก็ดีครับ ลดโลกร้อนด้วย มีคนไทยเท่านั้นที่ถือว่าธูป 1 ดอกคือการไหว้ศพ ชาวฮินดูเค้าหยิบออกมาจากซองได้มากี่ดอกก็จุดเลยครับ ไม่มีการนับ หรือถ้าจะให้สบายใจ ไหว้แบบคนไทยหรือจีน ก็ใช้ 3 ดอก 5 ดอก 9 ดอกครับ
3. กระถางธูป หรือ แท่นวางกำยานใส่ดิน หรือ ผงธูป ลงในกระถางธูปก่อนเพื่อให้สามารถปักธูปได้
สำหรับแท่นวางกำยานก็มีขายหลายแบบ ส่วนใหญ่ทำจากกระเบื้องเซรามิก ดินเผา ทองเหลือง ฯลฯ หรือจะซื้อถ้วยเล็กๆ ตื้นๆ แบบที่ใส่พริกน้ำปลา มาใช้แทนก็ได้ครับ
4. ประทีป (ดวงไฟ เทียน ตะเกียงน้ำมัน การบูร)ใช้เป็นไฟส่องสว่าง ควรมี 2 ดวงซ้าย-ขวา หรือเทียน 2 เล่มถ้าใช้เทียน ก็ปักลงแท่นให้เรียบร้อยถ้าใช้ตะเกียงน้ำมัน ตรวจสอบน้ำมันให้มีเพียงพอ  เครื่องสังเวย 1. ดอกไม้ถวายได้ทุกพันธุ์ ควรเป็นดอกไม้สด จะร้อยเป็นพวง เป็นช่อ หรือดอกเดียวก็ได้ ให้ล้างทำความสะอาดก่อนถวายดอกไม้ที่ดีที่สุดคือ ดอกบัว เพราะในบทสวดของเทพทุกพระองค์ มีหลายๆโศลก หลายๆบท ที่กล่าวว่า"ขอน้อมบูชาเทพผู้มีพระบาทงดงามดั่งดอกบัว" คือ ยกย่องสรรเสริญว่าทวยเทพทั้งหลายนั้นมีเท้าที่สวยงามเปรียบเสมือนดอกบัวที่งดงาม
ส่วนดอกไม้อื่นๆ ได้หมดครับ ไม่ว่าจะเป็นดาวเรือง มะลิ กุหลาบทุกสี ขอให้สด สะอาด มีกลิ่นหอมโชยก็ได้แล้วครับ
2. น้ำสะอาด
อันนี้ต้องมี ขาดไม่ได้เด็ดขาดนะครับ ห้ามใช้น้ำจากขวดที่เราเคยเปิดกินมาแล้ว แนะนำให้จัดขวดน้ำแยกไว้เพื่อรินถวายเทพโดยเฉพาะ โดยเทใส่แก้วเล็กๆ ซึ่งแก้วน้ำนี้ก็ต้องเป็นแก้วที่จะใช้ถวายเทพโดยเฉพาะเช่นเดียวกัน
3. นมสด
(หากจัดหาไม่ได้ จะถวายน้ำเปล่าอย่างเดียวก็ได้) นมที่ใช้ถวาย ควรเป็นนมสด (จืด) ที่ไม่ใช่รสดัดแปลง เช่น รสช็อคโกแล็ต รสสตรอเบอรี่ หรือนมเปรี้ยวดัดแปลงต่างๆก็ไม่ควรครับ แต่เราสามารถถวาย โยเกิร์ต ได้ โดยให้เลือกรสธรรมชาติ เนื่องจากโยเกิร์ต คือวิธีการทำนมเปรี้ยวในแบบของโบราณนั่นเอง หากนมเป็นกล่อง สามารถเสียบหลอดไว้ได้ หรือถ้าจะให้ดีก็เทใส่แก้วเลยครับ
4. ผลไม้
ผลไม้อะไรก็ใช้ถวายได้ ไม่ต้องแพงมากครับ ใช้ผลไม้ตามฤดูกาล สับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็ดี ผลไม้ที่แนะนำคือ กล้วย อ้อย สาลี่ ชมพู่ มะขวิด ผลหว้า และ มะพร้าวผ่าซีก ใส่ในถาดหรือจานสะอาด (ซื้อมาเป็นกิโลๆ แช่เย็นไว้แล้วแบ่งออกมาถวาย ก็เหมาะสมในเศรษฐกิจยุคนี้ครับ)
5. ขนมหวาน
ห้ามใช้ขนมที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ (ประมาณว่าแซนวิชหมูหยองนี่ห้ามนะครับ) ควรเป็นขนมที่ทำจากแป้ง มีความหวาน มัน เน้นน้ำตาลและกะทิ จัดใส่ถาดหรือจานสะอาด ปัจจุบันอนุโลมให้มีส่วนผสมของไข่ได้ มิฉะนั้นจะหาขนมมาถวายยากมากๆ
***ห้ามถวายของคาว เช่น ข้าวผัดกระเพรา ก๋วยเตี๋ยว หัวหมู เป็ด ไก่ตอน ฯลฯ เพราะไม่เหมือนกับการเซ่นไหว้เจ้าแบบจีนนะครับ
***จาน ถาด แก้วน้ำ ให้จัดไว้สำหรับบูชาเทพเท่านั้น ใช้เสร็จแล้วล้างให้สะอาด เก็บแยกไว้ ห้ามใช้ปะปนกับของคน
***เครื่องสังเวยอื่นๆที่สามารถถวายได้ ได้แก่ พืชพรรณ ธัญญาหารต่างๆ ข้าวสาร ข้าวกล้อง เกลือ น้ำตาล เมล็ดพริกไทย เมล็ดถั่ว งาขาว งาดำ ใบชา เมล็ดกาแฟสด มะเขือ มะขวิด ใบกระเพรา ใบโหระพา เครื่องเทศต่างๆ ผักสดทุกชนิด และผลไม้ทุกชนิด ขั้นตอนการบูชาเพื่อการสวดบูชาให้ได้ผลสูงสุด ควรเลือกเวลาที่เงียบสงัด เช่น เช้าตรู่ หรือ ก่อนนอน จะได้ไม่มีเสียงรบกวนจากผู้อื่น 
1. นำของสังเวยทั้งหมด (น้ำ นม ผลไม้ ขนมหวาน) จัดวางไว้หน้าเทวรูป, รูปบูชา
2. ดอกไม้ ถ้าเป็นช่อหรือดอกเดียวให้วางไว้ข้างหน้า ถ้าร้อยเป็นพวง สามารถนำไปคล้องที่พระกรหรือศาสตราวุธของเทวรูปได้
3. จุดกำยาน ธูป ประทีป เทียน
4. การพนมมือ ให้พนมมือแบนราบติดกันนะครับ ไม่ใช่แบบดอกบัวตูม แล้วตั้งจิตให้สงบนิ่ง
5. เมื่อจิตสงบนิ่งแล้ว ให้ เริ่มสวดบูชา...การสวดมนต์นั้น ท่านสามารถเลือกบทสวด บทอัญเชิญ หรือบทสรรเสริญ บทใดก็ได้มาหนึ่งบท หรือจะสวดหลายๆ บท ให้ต่อเนื่องกันก็ยิ่งดีครับบทสวดมนต์ทั้งหลาย สามารถดูได้จากลิ้งก์ดังต่อไปนี้- รวมบทสวดมนต์พระพิฆเนศ (จากหลายตำรา)
- รวมบทสวดพระพิฆเนศ 108 พระนาม
ในเบื้องต้นสำหรับการบูชาพระพิฆเนศนั้น คาถาบูชาที่ส่วนใหญ่นิยมคือ โอม ศรี คะเนศา ยะนะมะฮา (Om Shri Ganesha Yanamaha) อ่านออกเสียงตามแบบอินเดียว่า โอม ชรี กาเนชา ยะนะมะฮะ แต่ถ้ามีเวลาในการสวดบูชา แนะนำให้ทำสมาธิด้วยการสวดมนต์ โดยท่องบทเดียวกันให้วนไปเรื่อยๆ จะเป็น 108 จบก็ดี หรือจะเปิดเพลงขณะบูชาด้วยก็ดีครับ (สามารถโหลดเพลงได้ที่หน้าแรก) ควรศึกษาและจำบทสวดมนต์ให้ได้หลายๆ บท เพื่อประโยชน์ในการทำสมาธิขณะสวดมนต์ หรือการสักการะในโบสถ์ วัด เทวาลัยต่างๆ
6. ถวายไฟ หรือการทำ อารตี หากไม่สะดวกใช้ตะเกียงอารตี (ต้องใช้สำลีชุบน้ำมัน) สามารถถวายไฟแบบใช้เทียน หรือ การบูร ให้นำใส่ถาดแล้วจุดไฟ ยกขึ้นหมุนวนเป็นวงกลม (ตามเข็มนาฬิกา) 3 รอบ ต่อหน้าองค์เทวรูป หรือรูปภาพเทพที่เราบูชา แล้วใช้ฝ่ามืออังไฟ แล้วมาแต่ที่หน้าผาก เพื่อให้เกิดความสว่างแก่จิตและดวงปัญญา หรือแตะบริเวณอื่นๆ ที่เป็นโรคเจ็บป่วย
7. ขอพรตามประสงค์
จากนั้นให้กล่าวคำว่า "โอม ศานติ...ศานติ...ศานติ" เพื่อขอความสันติให้บังเกิด เป็นอันเสร็จสิ้น (หรืออ่านในหน้ารวมบทสวด)
8. ลาเครื่องสังเวยถ้าจุดเทียน สามารถเป่าเทียนให้ดับได้เลย เพื่อป้องกันอัคคีภัย (ใช้เทียนเล่มเดิมนี้ จุดบูชาในวันต่อไปได้เรื่อยๆ จนเทียนหมด)
ถ้าจุดธูปหรือกำยาน ต้องรอให้หมดดอก จึงจะลาเครื่องสังเวยได้
นำเครื่องสังเวยต่างๆ ยกขึ้นจรดหน้าผาก แล้วกล่าวว่า "โอม ปราสดัม ศิรสา กฤนาม"เพื่อขออนุญาตลาเครื่องสังเวย อย่าทิ้งอาหารไว้ให้เน่านะครับน้ำเปล่า - สามารถนำมาล้างหน้าหรือแต้มหน้าผากเพื่อเป็นสิริมงคลนมสด - ให้เททิ้งครับ ปล่อยไว้ค้างคืนจะทำให้นมบูด (บางคนดื่มแล้วท้องเสียครับ)ผลไม้และขนม - ยกออกมาใส่จาน เพื่อมาแบ่งกันทานในครอบครัว ถือเป็นอาหารทิพย์
(ไม่ควรทานทั้งๆที่อยู่ในจานหรือถาดสำหรับถวาย เพราะห้ามใช้ปนกับของท่านนะครับ)
9. ทำความสะอาด จาน แก้วน้ำ เชิงเทียน แท่นกำยาน ฯลฯ แล้วเก็บไว้ในที่เฉพาะ
......................................................................................................................................................................
การบูชาก็มีเพียงเท่านี้ ซึ่งเป็นการบูชาแบบกระชับ เลือกปฏิบัติแต่ละขั้นตอนตามความเหมาะสมแต่ความจริงแล้วตามวิถีชาวฮินดูนั้น การสวดบูชาเทพจะมีรายละเอียดและขั้นตอนมากมายกว่านี้ครับ
ที่เราตัดทอนมานี้ก็เพื่อความสะดวกและเข้ากับยุคสมัยที่เร่งรีบ
ที่สำคัญให้ใส่ใจมากกว่า คือ ควรตั้งจิตให้เป็นสมาธิในขณะสวดบูชา และควรปฏิบัติให้ได้ทุกวัน จะเป็นสิริมงคลมากครับ
ท่านใดที่ไม่สามารถจัดหาเครื่องสังเวยต่างๆ ได้ติดต่อกันทุกๆวัน เช่น ขนม หรือผลไม้ ก็สามารถถวายน้ำเปล่าอย่างเดียวและจุดเทียนก็ได้ครับ องค์ท่านโปรดให้บูชาตามแต่กำลังทรัพย์และฐานะของผู้ศรัทธา (และตามแนวทางของเว็บไซต์สยามคเณศ ที่ไม่ส่งเสริมให้บูชาแบบฟุ่มเฟือย)
อาจจะเลือกถวายขนมกับผลไม้ให้หลากหลายสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือถวายของบูชาครั้งใหญ่ๆ ในวันที่ตรงกับวันเกิดของตน แต่หากท่านใดสามารถจัดหาของบูชาได้มากๆ มีขนมหลากหลาย ผลไม้มากอย่าง ได้เป็นประจำ ก็ย่อมเป็นการดีอยู่แล้วครับ
จะบูชาอย่างไรก็ตาม หลักสำคัญคือ ขณะสวดบูชาให้ตั้งสติให้แน่วแน่ สร้างบรรยากาศให้เกิดสมาธิ สวดมนต์ให้ถูกต้อง บูชาด้วยใจที่บริสุทธิ์ ไม่ขอพรด้วยความโลภ ไม่ขอพรที่มีการสาบแช่งผู้อื่น ไม่ขอพรด้วยความท้าทาย หากปฏิบัติขั้นตอนใดผิดพลาดก็ให้ขอขมา บารมีขององค์ท่านก็คุ้มครองเราได้เท่าๆกันครับ